บูรณะฟันทั้งปาก หรือทำฟันทั้งปาก

การบูรณะฟันทั้งปาก หรือการทำฟันทั้งปาก คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพฟันที่มีปัญหา ฟันสึกทั้งปาก โดยสร้างสภาพฟันทั้งปากให้กลับมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สวยงาม พูดออกเสียงชัด รอยโรคและอาการเจ็บปวดต่างๆหายไป ทั้งปวดฟัน ปวดกล้ามเนื้อบดเคี้ยว รวมทั้งปวดข้อต่อขากรรไกร

การฟื้นฟูสภาพช่องปาก จะทำในกรณีต่อไปนี้

  1. ฟันสึก (Tooth wear)

        ฟันสึกเป็นการสูญเสียผิวเคลือบฟันไปอย่างช้าๆ สาเหตุของฟันสึกมีหลายสาเหตุ เช่น แปรงฟันผิดวิธี  รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำผลไม้รสเปรี้ยวซึ่งมีความเป็นกรดสูง นักกีฬาว่ายน้ำซึ่งสัมผัสกับน้ำคลอรีน โรคบูลิเมีย (bulimia) และโรคบางชนิดที่ทำให้เกิดการอาเจียน โดยกรดจากกระเพาะจะทำให้ฟันสึก การนอนกัดฟัน(bruxism) หรือการขบเน้นฟัน(clenching)

      ลักษณะการสึกขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น สึกบริเวณคอฟัน สึกบนด้านบดเคี้ยวเป็นหลุม ปลายฟันหน้าสึกเป็นร่อง สึกด้านเพดานของฟันหน้าบน หรืออาจสึกที่ปุ่มฟันด้านบดเคี้ยวของฟันหลัง ถ้าสึกมากๆด้านบดเคี้ยวจะแบนราบและปลายฟันหน้าจะสึกไปด้วย 

       ฟันสึกถ้าไม่ได้รับการแก้ไขแต่เนิ่นๆ ในอนาคตฟันสึกทั้งปากอาจตามมา และก็จะสึกถึงชั้นเนื้อฟัน ทำให้เกิดอาการเสียวเมื่อมีสิ่งกระตุ้น เช่น ขณะเคี้ยวอาหาร ดื่มน้ำเย็น แปรงฟัน หากยังไม่ได้รับการแก้ไขอีกก็จะสึกต่อไปถึงโพรงประสาทฟัน ทำให้เกิดอาการปวด เกิดรอยโรคที่ปลายรากฟัน ถ้าสึกที่ด้านบดเคี้ยวมากๆตัวฟันจะเตี้ยลง ความสูง(มิติแนวดิ่ง)ของใบหน้าส่วนล่างตั้งแต่ใต้จมูกถึงปลายคางสั้นลง ทำให้ดูแก่เกินวัย      

  1. สูญเสียฟันธรรมชาติไปหลายซี่

การสูญเสียฟันธรรมชาติมีสาเหตุจากโรคฟันผุ โรคปริทันต์อักเสบ แล้วไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม โรคลุกลามมากแล้วค่อยไปพบทันตแพทย์ จึงทำให้ต้องถอนฟัน  บางกรณีถอนจนไม่มีฟันหลังสบกันเลย ส่งผลให้ความสูงของใบหน้าส่วนล่างสั้นลง เมื่อไม่มีฟันหลังสบกันผู้ป่วยจะยื่นฟันหน้ามาเคี้ยวอาหาร การสบฟันจะเปลี่ยนไปและอาจมีฟันหน้าสึกร่วมด้วย

  1. เนื้อฟันกำเนิดไม่สมบูรณ์ (Dentinogenesis Imperfecta)

          เป็นความผิดปกติของการสร้างเนื้อฟัน ทำให้เนื้อฟันขุ่นมัว(opalescent) สีฟันผิดปกติ อาจมีสีฟ้าอมเทาหรือเหลืองอมน้ำตาล บางทีมีหลุมหรือแอ่งบนผิวฟัน เนื้อฟันอ่อนแอ สึกและแตกง่าย รากฟันสั้น อาจไม่มีโพรงประสาทฟัน บางกรณีมีโพรงประสาทฟันกว้าง 

 

ขั้นตอนในการบูรณะฟันทั้งปาก

การบูรณะฟันทั้งปาก (Full Mouth Rehabilitation) เป็นการทำฟันทั้งปาก ที่การรักษาครอบคลุมเพื่อปรับปรุงสุขภาพฟัน ฟันสึกทั้งปาก โครงสร้างใบหน้า และรอยยิ้มของคุณ การรักษานี้อาจรวมถึงการอุดฟัน ครอบฟัน สะพานฟัน รากฟันเทียม และการรักษาอื่นๆ ขึ้นอยู่กับสภาพฟันและช่องปากของคนไข้ ทันตแพทย์เฉพาะทางจะให้คำแนะนำว่าต้องทำการรักษาอะไรบ้าง

  1.การรักษาโรคฟันต่างๆ

        การบูรณะฟันทั้งปากมักจะเกี่ยวข้องกับทันตแพทย์หลายสาขา ดังนั้นการรักษาจะเป็นสหสาขา (Multidisciplinary approach) โดยก่อนจะบูรณะฟันทั้งปาก จะต้องรักษาฟันธรรมชาติที่เหลืออยู่ให้ดีก่อน เช่น อุดฟัน รักษาโรคปริทันต์ ตัดแต่งเหงือกเพื่อเพิ่มความยาวฟัน รักษาคลองรากฟันซี่ที่มีรอยโรคปลายราก ถอนฟันซี่ที่ไม่สามารถบูรณะได้ ในบางกรณีอาจต้องมีการจัดฟัน เพื่อปรับตำแหน่งฟันให้เหมาะสม ก่อนทำการบูรณะต่อ ทั้งนี้ทั้งนั้นทันตแพทย์เฉพาะทางใส่ฟัน  จะเป็นผู้วางแผนการรักษาว่าฟันซี่ใดจะต้องทำอะไรก่อน หลัง เพื่อที่จะมาทำการบูรณะฟันทั้งปาก

2.การปรับหาระดับมิติแนวดิ่งใบหน้าที่เหมาะสม

กรณีที่ความสูงของใบหน้าส่วนล่างเตี้ยลง อาจทำฟันปลอมบางส่วนถอดได้ หรือ เฝือกสบฟัน ให้ลองใส่ใช้งาน เพื่อให้ได้ความสูงที่เหมาะสม  ถ้าสูงเกินไปจะทำให้เมื่อยหรือปวดกล้ามเนื้อใบหน้าและข้อต่อขากรรไกร ถ้าเตี้ยเกินไปก็ไม่มีแรงเคี้ยวอาหาร ขาดความสวยงาม ปรับแก้จนกระทั่งใช้งานได้โดยไม่มีอาการดังกล่าว  และได้สัดส่วนใบหน้าส่วนล่างที่เหมาะสม สวยงาม ออกเสียงชัดเจน

3. การออกแบบรูปร่างฟันที่ระดับมิติแนวดิ่งใหม่

เมื่อได้ระดับมิติแนวดิ่งใบหน้าที่เหมาะสมจากข้อที่ 2 ทันตแพทย์จะทำการออกแบบรูปร่างฟันใหม่โดยใช้ข้อมูลจากการสแกนฟันและรูปถ่ายใบหน้า เพื่อออกแบบฟันด้วยคอมพิวเตอร์ และให้คนไข้พิจารณาว่าชอบหรือไม่ เพื่อใช้เป็นพิมพ์เขียวในการทำครอบฟันชั่วคราวและถาวรตามลำดับ

4. การทำครอบฟันชั่วคราวทั้งปาก

          ทันตแพทย์จะทำครอบชั่วคราวบนฟันธรรมชาติทั้งหมด ตามแบบฟันที่ออกแบบจากคอมพิวเตอร์ในข้อที่ 3 เพื่อให้คนไข้ใช้งานกับฟันชั่วคราวแบบติดแน่นอีกระยะ เพื่อปรับตัวกับระดับฟันใหม่ รวมทั้งสามารถปรับเปลี่ยนรูปร่างฟันหน้าให้ความสวยงามในแบบที่คนไข้พอใจ ก่อนจะบูรณะด้วยฟันชนิดถาวร

5. การบูรณะฟันถาวร

เมื่อคนไข้สามารถใช้ครอบฟันชั่วคราวได้ดี ทันตแพทย์ก็จะใช้รูปร่างและการสบฟันจากครอบฟันชั่วคราวนั้น มาออกแบบและสร้างฟันถาวร ซึ่งมีหลายชนิดแตกต่างกันไปแล้วแต่สภาพช่องปากและตำแหน่งที่ต้องใช้งาน ได้แก่ ครอบฟัน สะพานฟัน วีเนียร์ ฟันเดือย รากเทียม และฟันปลอมบางส่วนถอดได้

6. การใส่เฝือกสบฟัน

หลังการบูรณะฟันทั้งปากเสร็จ คนไข้ควรใส่เฝือกสบฟันเวลานอน เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันที่บูรณะเสร็จแล้วบิ่นแตก จากการนอนกัดฟัน โดยทันตแพทย์จะทำการพิมพ์ปากเพื่อทำเฝือกสบฟันให้หลังจากเสร็จสิ้นการบูรณะฟันทั้งปาก

การดูแลรักษาอนามัยช่องปากภายหลังการบูรณะฟันทั้งปาก

กรณีคนไข้ฟันสึกทั้งปากได้บูรณะฟัน ทำฟันทั้งปากเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ป่วยต้องรักษาอนามัยช่องปากให้สะอาด และกลับไปให้ทันตแพทย์ตรวจและทำความสะอาดฟันทุก 6 เดือนเพื่อคงสภาพฟันให้ใช้งานได้นานที่สุด

ติดต่อขอรับคำปรึกษาหรือนัดหมายกับ ศูนย์ทันตกรรม โกลบอล เด็นทัล คอมเพล็กซ์ โทร. 065-669-9191 หรือ 02-591-9191

Scroll down

ตะกร้าสินค้า0
There are no products in the cart!
ซื้อสินค้าต่อ