ฟันร้าว คืออะไร
ฟันร้าว คือ ฟันที่มีรอยแตกหรือแยกซึ่งอาจเกิดอยู่บนส่วนตัวฟันหรือบนรากฟัน ฟันหน้าร้าวเป็นเส้น เป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งที่รบกวนชีวิตประจำวันของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ฟันร้าวอาจมีอาการได้หลากหลาย ผู้ป่วยอาจเคยพบทันตแพทย์ เพื่อหาสาเหตุ และ รับการรักษามาหลายครั้ง แต่อาการยังไม่หาย ระบุซี่ฟันที่ชัดเจนได้ยาก และบางครั้งอาจตรวจไม่พบความผิดปกติใดๆจากการตรวจทางคลินิกและภาพถ่ายรังสี ฟันร้าวจึงเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน ควรได้รับการวินิจฉัยและ แก้ไขอย่างรวดเร็ว เพราะ ฟันร้าว ไม่มีทางที่จะแข็งแรง 100% เหมือนฟันที่ปกติ ยิ่งตรวจพบช้า อาการจะยิ่งมากขึ้น และรักษาได้ยากขึ้น จนกระทั่งในบางครั้งพบว่า อาจจะต้องถอนฟันร้าวซี่นั้นก็เป็นได้
รูปที่ 1 แสดงรอยร้าวแบบต่างๆที่เกิดบนตัวฟันหรือรากฟัน
อาการของฟันร้าว ที่คนไข้จะสังเกตได้เอง มีอะไรบ้าง
- เสียวฟัน เวลาดื่มน้ำเย็น หรือ น้ำร้อน
- เสียวแปล๊บๆเวลาเคี้ยวอาหาร อาจจะเป็นแค่บางครั้ง เป็นๆ หายๆ หรืออาจเป็นทุกครั้งเวลาเคี้ยว
- กัดเจ็บ เคี้ยวเจ็บ มีอาการปวดร่วมด้วย หากรอยร้าวลึกมาก อาจทำให้ไม่สามารถใช้เคี้ยวอาหารได้เลย
- มีตุ่มหนองบริเวณเหงือกด้านใดด้านหนึ่งที่ล้อมรอบตัวฟัน
อาการของฟันร้าวจะเป็นแบบใดนั้นขึ้นกับลักษณะ ตำแหน่ง ความลึก ความยาวของรอยร้าว สภาพเนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟัน สภาพเหงือกและกระดูกรอบๆฟันที่ร้าว
ฟันร้าวมักพบได้บ่อยในกรณีดังต่อไปนี้
- ฟันที่มีการสึก จากการใช้งานหนักๆ
- ฟันที่มีการสบลึก
- ฟันที่มีวัสดุบูรณะขนาดใหญ่ เนื้อฟันเดิมเหลือน้อย
- ฟันที่ได้รับการอุดมาหลายครั้งแต่อาการเสียวไม่หายไป มีประวัติการรักษามายาวนาน อาจเป็นเดือนหรือปี
- ฟันที่รักษารากฟันมาแล้ว แต่ไม่ได้รับการบูรณะฟันที่มีการคลุมปุ่มยอดฟันทั้งหมดหรือทำครอบฟัน
รูปที่ 2 แสดงฟันกรามใหญ่ของผู้ป่วยที่ให้ประวัติว่าฟันแตกจนขยับได้ เป็นฟันที่ได้รับการรักษารากฟันแล้วและอุดด้วยวัสดุอมัลกัมที่ไม่มีการคลุมปุ่มฟัน เมื่อใช้งานไประยะเวลาหนึ่ง เกิดฟันแตกในแนวดิ่ง มีปุ่มฟันแตกออกจนถึงบางส่วนของรากฟันได้หลุดออกไป
- ฟันที่รักษารากฟัน ใส่เดือยฟันและครอบฟัน มาเป็นเวลานานๆ ซึ่งฟันร้าว มักจะพบได้บ่อยในฟันที่บูรณะด้วยเดือยฟันโลหะ
รูปที่ 3 แสดงภาพถ่ายรังสี ของฟันที่รักษารากแล้ว บูรณะด้วยเดือยฟันโลหะและเป็นฟันหลักของสะพานฟัน ลูกศรสีขาวชี้ตำแหน่งที่เกิดรอยร้าวในแนวดิ่งบนรากฟัน
พฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ ก็เป็นสาเหตุ ที่ทำให้เกิดฟันร้าวได้
- คนไข้ที่มีพฤติกรรม ชอบเคี้ยวอาหารเหนียว หรือ แข็ง เป็นประจำ เช่น กระดูกอ่อน น้ำแข็ง เมล็ดถั่วชนิดต่างๆ
- เคี้ยวโดนก้อนกรวดในอาหารโดยบังเอิญ
- การนอนกัดฟัน
- ขบเน้นฟันในขณะมีความเครียด ขณะเล่นกีฬา หรือ ขณะทำงาน เช่น นักธุรกิจ นักมวย นักรักบี้ นักกอล์ฟ เป็นต้น
- ประสบอุบัติเหตุ หรือ ทะเลาะวิวาท
ลักษณะของรอยร้าวที่พบได้ทางคลินิก จะแบ่งตามความลึกของรอยร้าวที่เกิดขึ้นบนตัวฟัน
- รอยร้าวที่เกิดขึ้นเฉพาะในส่วนเคลือบฟันด้านนอก พบได้หลายซี่ในช่องปาก มักไม่มีอาการ ในกรณีแบบนี้ไม่ต้องรักษา แต่ต้องระมัดระวังในเรื่องการใช้งาน หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารแข็ง เพราะรอยร้าวเหล่านี้อาจจะลึกขึ้นเรื่อยๆ และอาจทำให้มีอาการในอนาคตอันใกล้ได้
รูปที่ 4 ลูกศรชี้ตำแหน่งที่เกิดรอยร้าวที่เกิดขึ้นในชั้นเคลือบฟันด้านนอก
- รอยร้าวที่เกิดขึ้นในชั้นเคลือบฟัน และลึกเข้าไปในชั้นเนื้อฟัน แต่ยังไม่แยกหรือแตกออกมาจากฟัน ในกรณีนี้ อาจมีเชื้อแบคทีเรียรั่วซึมเข้ามาตามรอยร้าวไปทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟันทำให้มีอาการเสียว หรือ ปวด เวลาเคี้ยวได้
รูปที่5 ลูกศรชี้ตำแหน่งที่เกิดรอยร้าวที่เกิดขึ้นในชั้นเคลือบฟัน และลึกเข้าไปในชั้นเนื้อฟัน
- รอยร้าว ที่ทำให้ฟันแตก หรือ แยกหลุดออกมาจากตัวฟันเดิม โดยรอยแตกนั้นอาจเกิดในชั้นเคลือบฟันและเนื้อฟัน หรือรอยแตกนั้น อาจลึกไปถึง ชั้นโพรงประสาทฟันเลยก็เป็นได้ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะรู้สึกว่ามีการขยับของชิ้นส่วนที่แตกและหลุดออกไป
รูปที่ 6 แสดงฟันหน้าหักเกิดจากอุบัติเหตุจนทะลุโพรงประสาทฟัน (จุดเลือดออกสีแดง)
- รอยร้าวลึกไปตามแนวดิ่งของรากฟัน มักจะพบว่ามีรูเปิดของตุ่มหนองหรือเหงือกบวมบริเวณรอบตัวฟันร่วมด้วย
รูปที่ 7 แสดงฟันกรามน้อยของผู้ป่วยที่ให้ประวัติว่ามีอาการเคี้ยวเจ็บบ่อยๆ และมีเหงือกบวม มาเป็นเวลาหลายสัปดาห์ เมื่อตรวจในทางคลินิกพบว่า มีการทำลายของกระดูกในแนวดิ่งตามรอยร้าวบนรากฟัน ลูกศรสีขาวชี้ตำแหน่งที่เกิดรอยร้าวบนรากฟัน
การรักษาฟันร้าวมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับ ลักษณะของรอยร้าว และอาการ ของฟันซี่นั้นๆ
- รอยร้าวที่เกิดขึ้นในชั้นเคลือบฟันและเนื้อฟัน ในกรณีที่สภาพเนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟันยังปกติ มีรอยร้าวเพียงเล็กน้อย ทันตแพทย์จะ กรอฟัน เพื่อ กำจัดรอยร้าวให้หมด แล้วอุด รอดูอาการ ถ้ายังมีอาการเสียว หรือ ปวด เวลาเคี้ยวอยู่ ทันตแพทย์อาจพิจารณาใส่แหวนโลหะรัดฟัน หรือทำครอบฟันชั่วคราวเพื่อดูอาการให้แน่ใจว่าหาย ก่อนทำครอบฟันถาวรต่อไป ถ้าอาการยังไม่หาย ทันตแพทย์จะทำการรักษารากฟัน เพื่อเอาเส้นประสาทฟันออก ก่อนทำครอบฟันถาวร และ/หรือเดือยฟันร่วมด้วยในบางกรณี
- รอยร้าวที่เกิดขึ้นในชั้นเคลือบฟันและเนื้อฟันที่มีแบคทีเรียรั่วซึมเข้าไปตามรอยร้าวจนทำให้เนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟันเกิดการอักเสบ คนไข้มักจะมีอาการเสียว หรือ ปวดฟัน เวลาเคี้ยว หรือ บางครั้ง ก็มีอาการโดย ไม่ต้องเคี้ยวโดน ในกรณีนี้ จำเป็นต้องรักษารากฟันแล้วบูรณะด้วยครอบฟันถาวร และ /หรือเดือยฟันร่วมด้วยในบางกรณี
- รอยร้าวที่เกิดขึ้นตามรากฟันในแนวดิ่งลงไปใต้เหงือกที่ลึกเกินกว่าจะบูรณะได้ ในกรณีนี้ ทันตแพทย์จะพิจารณาถอนแล้วใส่ฟันทดแทน เช่น รากฟันเทียม สะพานฟัน หรือ ฟันเทียมถอดได้
ฟันหน้าร้าวเป็นเส้น
ฟันหน้าร้าวเป็นเส้น เป็นปัญหาทางทันตกรรมที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย สาเหตุของฟันหน้าร้าวเป็นเส้นมีหลากหลายสาเหตุ เช่น การเคี้ยวอาหารแข็ง อุบัติเหตุ การนอนกัดฟัน ชอบกัดเน้นฟันหน้า เป็นต้น อาการของฟันหน้าร้าวเป็นเส้น ได้แก่ มีรอยเส้นตรงฟันหน้า ถ้าเป็นมาก อาจะมี อาการปวดฟัน เสียวฟัน ฟันแตกหรือหัก เป็นต้น การรักษาฟันหน้าร้าวเป็นเส้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของรอยร้าว หากรอยร้าวไม่ลึกมาก ทันตแพทย์อาจทำการอุดฟันหรือวีเนียร์ หากรอยร้าวลึกมาก ทันตแพทย์อาจต้องทำครอบฟัน ถ้ามีอาการปวดร่วมด้วย อาจต้องรักษารากฟัน
หากมีอาการของฟันหน้าร้าวเป็นเส้น ควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาทันที การรักษาฟันหน้าร้าวเป็นเส้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของรอยร้าว ถ้าปล่อยไว้นาน เป็นมากๆ อาจจะต้องถอนฟัน
วิธีป้องกันฟันหน้าร้าวเป็นเส้น
- หลีกเลี่ยงการกัดฟัน
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่แข็งหรือเหนียว
- ใส่เฝือกสบฟันตอนนอนหลับเพื่อกันการนอนกัดฟัน
- ไปพบทันตแพทย์ตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำทุกปี
ฟันแตก
ฟันแตก (fractured tooth) เป็นภาวะที่ฟันเกิดรอยแตกที่ฟันหรือรอยร้าวที่ฟัน รอยแตกอาจเกิดขึ้นได้หลายตำแหน่งบนฟัน เช่น บริเวณเคลือบฟัน เนื้อฟัน หรือโพรงประสาทฟัน ฟันแตกมักเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น การเคี้ยวอาหารแข็ง การนอนกัดฟัน การอุดฟันขนาดใหญ่ อาการสบกระแทก หรือฟันผุที่ลุกลามไปถึงโพรงประสาทฟัน
อาการของฟันแตก ได้แก่ ชิ้นส่วนฟันโยกคลอน เสียวฟัน ปวดฟัน หรือฟันแตกร้าวจนเห็นเนื้อฟันด้านใน ในกรณีที่รอยแตกลุกลามไปถึงโพรงประสาทฟันอาจมีอาการบวมแดงของเหงือกและหนองไหลออกจากเหงือกได้
รักษาฟันร้าว ฟันแตกราคาเท่าไหร่
ค่าใช้จ่ายในการซ่อมฟันร้าว ฟันแตกราคาจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการแตกร้าว ตำแหน่งของฟัน และประเภทของการรักษาที่จำเป็น โดยทั่วไปแล้ว ค่าใช้จ่ายในการรักษาฟันแตกราคามักจะสูงกว่าการรักษาฟันร้าว และในกรณีที่ฟันแตกรุนแรงอาจมีความจำเป็นต้องรักษาที่ซับซ้อนขึ้น
โดยสรุป หลักในการรักษาฟันร้าวมุ่งเน้นการอุดปิดรอยร้าวเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแบคทีเรียซึมเข้ารอยร้าวไปทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟันได้ อีกทั้งยังมุ่งเน้นการป้องกันการขยายต่อของรอยร้าวไม่ให้ลุกลามจนเกิดการแตกหักของตัวฟันและรากฟันได้ ดังนั้นการมาพบทันตแพทย์เมื่อสงสัยว่ามีฟันร้าวและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จะเป็นการเก็บรักษาฟันซี่ที่ร้าวให้สามารถใช้งานอยู่ได้ในช่องปาก ช่วยชะลอการสูญเสียฟันได้ อย่างไรก็ตามฟันร้าว เป็นฟันที่ไม่แข็งแรงเหมือนเดิม คาดเดาผลการรักษาได้ยาก เหมือนแก้วที่ร้าว แล้ว ยังไงก็ไม่มีทางสมานได้เหมือนเดิม ผู้ป่วยต้องเผื่อใจว่า อาจจะสูญเสียฟันซี่นี้ในอนาคต ถึงแม้ว่าทันตแพทย์จะพยายามรักษาไว้อย่างสุดความสามารถแล้วก็ตาม
หากคุณพบว่ามีฟันร้าว ฟันหน้าร้าวเป็นเส้น ฟันแตก ฟันหัก ไม่ควรละเลยควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อรักษาทันที เพื่อป้องกันไม่ให้อาการลุกลามจนทำให้ฟันเสียหายมากขึ้น คุณควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย ทันตแพทย์จะอธิบายขั้นตอนการรักษาฟันหน้าร้าวเป็นเส้น ให้คุณทราบและตอบคำถามที่คุณมี หรือสอบถามประเมินค่ารักษา ที่ศูนย์ทันตกรรม โกลบอล เด็นทัล คอมเพล็กซ์ 065-669-9191 หรือ 02-591-9191