โรคเหงือก

สาเหตุของโรคเหงือก คือ อะไร

เกิดจากคราบจุลินทรีย์ที่เป็นแผ่นฟิล์มบางๆ ที่เกาะติดบนผิวฟัน ถ้าคราบจุลินทรีย์นี้ไม่ถูกกำจัดโดยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟัน มันจะค่อยๆแข็งตัวขึ้น จากการตกตะกอนของหินปูน หรือ หินน้ำลาย แบคทีเรียบนคราบจุลินทรีย์จะ ใช้น้ำตาลจากอาหารสร้างกรดทำลายเคลือบฟัน ทำให้เกิดฟันผุ และปล่อยสารพิษมาทำให้เหงือกอักเสบ เมื่อเหงือกมีการอักเสบบวมแดง เหงือกจะ เริ่มห่างจากตัวฟัน เกิดเป็นช่องว่าง เรียกว่าร่องลึกปริทันต์ เป็นที่สะสมของคราบจุลินทรีย์ และ หินน้ำลาย เพิ่มและลึกลงมากขึ้น ทำลายเนื้อเยื่อของเหงือกและกระดูกรอบฟัน ทำให้ฟันโยก ร่วมกับ มีหนองออกมาจากร่องเหงือก

แบ่งได้เป็น 2 ประเภท

  1. โรคเหงือกอักเสบ คือ การอักเสบของเหงือกรอบๆตัวฟัน โดยที่ กระดูกที่รองรับยังไม่ถูกทำลาย อาการที่พบ คือ เหงือกแดง แปรงฟันมีเลือดออก
  2. โรคปริทันต์อักเสบ (รำมะนาด) คือ การอักเสบของเหงือก และ กระดูก รอบๆ ตัวฟัน โดยที่ มีการทำลายกระดูกที่รองรับฟัน อาการที่พบ คือ เหงือกแดง บวม ฟันโยก มีกลิ่นปากรุนแรง บางครั้ง มีหนอง ออกมาจากร่องเหงือก

การรักษาโรคเหงือกโดยทันตแพทย์เฉพาะทางปริทันต์ มีขั้นตอน อย่างไร

  1. ทำบันทึกร่องลึกปริทันต์ และถ่าย เอ็กซเรย์ เพื่อประเมินความรุนแรงของโรค
  2. การขูดหินปูน เพื่อกำจัด คราบจุลินทรีย์และหินน้ำลาย จนถึงด้านล่างของร่องลึกปริทันต์
  3. การเกลารากฟัน เพื่อทำให้รากฟันเรียบ กระตุ้นให้เนื้อเยื่อเหงือกสามารถกลับมายึด แน่นติดกับผิวฟัน
  4. การผ่าตัดศัลยปริทันต์ (Periodontal Surgery) ทำเมื่อร่องปริทันต์ไม่ตื้นขึ้น ภายหลังการขูดหินน้ำลายและการเกลารากฟัน การผ่าตัดจะช่วยให้ทันตแพทย์กำจัดหินน้ำลายและคราบจุลินทรีย์ได้ทุกบริเวณ การเย็บแผลทำให้เหงือกรัดแน่นรอบฟัน สามารถลดความลึกของร่องปริทันต์และทำความสะอาดฟันได้ง่ายขึ้น ส่วนกระดูกเบ้าฟันที่ถูกทำลายไปจากโรคเหงือก ในบางกรณีสามารถปลูกขึ้นมาใหม่ได้
  5. การขูดหินปูนและเกลารากฟันตามระยะ เพื่อคงสภาพเหงือกและฟันภายหลังการรักษาให้อยู่ในสภาพที่ดี ไม่ถูกทำลายเพิ่มเติม โดยปกติแล้วทันตแพทย์เฉพาะทางปริทันต์จะนัดมาทุก 3-6 เดือน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการดูแลรักษาความสะอาดของคนไข้

ความแตกต่างระหว่างขูดหินปูนทั่วไป กับ ขูดหินปูนรักษาโรคเหงือก คืออะไร

การขูดหินปูนทั่วไปเป็นการเอาหินปูนและคราบจุลินทรีย์ที่อยู่ เหนือเหงือก ออก ซึ่งสามารถทำทั้งปากครั้งเดียวเสร็จ และสามารถทำโดยทันตแพทย์ทั่วไปได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นทันตแพทย์เฉพาะทางปริทันต์  ในขณะที่การขูดหินปูนรักษาโรคเหงือกนั้น ทันตแพทย์ผู้ให้การรักษาจะเป็นทันตแพทย์เฉพาะทางปริทันต์ โดยการรักษาจะเอาหินปูนที่อยู่ทั้งเหนือเหงือกบนตัวฟันและอยู่ใต้เหงือกบนรากฟันออก ซึ่งการเอาหินปูนใต้เหงือกออกต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะทางจึงจะสามารถทำความสะอาดได้อย่างเกลี้ยงเกลา เพราะถ้าหินปูนใต้เหงือกยังหลงเหลืออยู่ ก็จะทำให้โรคเหงือกของคนไข้ไม่หายขาด นอกจากนี้การขูดหินปูนรักษาโรคเหงือกจำเป็นต้องใช้เวลาการรักษามากกว่าหนึ่งครั้ง และส่วนมากทันตแพทย์เฉพาะทางปริทันต์ไม่สามารถทำทั้งปากภายในวันเดียวได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณ ของหินปูนที่เกาะอยู่ใต้เหงือก  ดังนั้นหลายๆครั้ง ผู้ป่วยโรคเหงือกอาจจะเข้าใจผิดว่าทำไมทันตแพทย์ปริทันต์ไม่ทำทั้งปากให้เสร็จไปเลยในครั้งเดียว

Scroll down

ตะกร้าสินค้า0
There are no products in the cart!
ซื้อสินค้าต่อ